ประเทศไทยในสมัยสุโขทัย มีการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือราชาธิปไตยเป็นรูปแบบการปกครองที่องค์พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตย ซึ่งเป็นอำนาจสูงสุดในการปกครอง
พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจนี้เพียงพระองค์เดียว และทรงใช้อำนาจบนพื้นฐานของหลักธรรม ประชาชนอยู่ร่มเย็นเป็นสุข
ในสมัยอาณาจักรสุโขทัยมีลักษณะการปกครองโดยใช้คตินิยมในการปกครองแบบครอบครัวหรือพ่อปกครองลูก มาเป็นหลักในการบริหารประเทศ คติการปกครองสมัยอาณาจักรสุโขทัยเรียกว่าการปกครองแบบพ่อปกครองลูก หรือการปกครองแบบบิดาปกครองบุตร โดยในสมัยนั้นพระมหากษัตริย์ใกล้ชิดกับประชาชนมาก ประชาชนต่างก็เรียกพระมหากษัตริย์ที่ใกล้ชิดประชาชนว่า “พ่อขุน”
รูปแบบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ในสมัยอาณาจักรสุโขทัยมีลักษณะเด่นที่สำคัญๆ ดังต่อไปนี้
1. พ่อขุนเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยโดยมีรูปแบบปกครองประชาชนบนพื้นฐานของความรัก ความเมตตาประดุจบิดาพึงมีต่อบุตร บางตำราอธิบายว่าเป็นการปกครองแบบพ่อปกครองลูกหรือแบบปิตุราชาประชาธิปไตย
2. พ่อขุนอยู่ในฐานะผู้ปกครองและประมุขของประเทศที่มีอำนาจสูงสุดแต่เพียงผู้เดียว หรืออำนาจอธิปไตยอยู่ที่พ่อขุน
3. ประชาชนมีสิทธิและเสรีภาพในการดำเนินชีวิตพอสมควร ดังจะเห็นได้จากศิลาจารึกอธิบายว่า “......ใครใคร่ค้า ค้า เอาม้ามาค้าเอาข้าวมาขาย....” จากหลักศิลาจารึกจะทำให้เห็นว่าอาณาจักรสุโขทัยให้โอกาสประชาชนในการดำเนินชีวิตพอควร อาจกล่าวได้ว่าผู้ปกครองและผู้อยู่ภายใต้การปกครองมีฐานะเป็นมนุษย์เหมือนกัน นอกจากให้เสรีภาพทางเศรษฐกิจแล้วยังไม่เก็บภาษีด้วย “เจ้าเมืองบ่เอาจังกอบ ในไพร่ลู่ทาง...”
4. รูปแบบการปกครองเป็นไปแบบเรียบง่ายไม่มีพิธีอะไรมากมายนัก อยู่แบบเรียบง่าย ไม่มีสถาบันการเมืองการปกครองที่สลับซับซ้อนมาก และรูปแบบการเมืองการปกครองเป็นไปแบบให้บริการมากกว่าการสั่งการ การควบคุมหรือการใช้อำนาจเป็นไปอย่างเหมาะสม
5. ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครอง คือ พ่อขุนและผู้อยู่ใต้การปกครองคือประชาชนเป็นไปอย่างแน่นเฟ้น ไม่มีพิธีรีตองมากนักเหมือนบุคคลในครอบครัวเดียวกัน
6. ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองกับประชาชนผู้อยู่ภายใต้การปกครองอยู่ในฐานะที่เท่าเทียมกัน ต่างก็อยู่ในฐานะเป็นมนุษย์เหมือนกัน แต่ทำหน้าที่ที่ต่างกันเท่านั้น
7. มีการพิจารณาคดีโดยใช้หลักประกันความยุติธรรม เช่นเมื่อพลเมืองผิดใจเป็นความกันจะมีการสอบสวนจนแน่ชัดจึงตัดสินโดยยุติธรรม ในศิลาจารึกเขียนไว้ว่า “ลูกเจ้าลูกขุนแลผิดแผกแสกกว้างกัน สวนดูแท้แลจึ่งแล่งความแก่ข้าด้วย ซื่อ บ่เข้าผู้ลักมักผู้ซ่อน....”
8. ทรงปกครองบ้านเมืองแบบเปิดเผยบนพระแท่นในวันธรรมดา ส่วนวันพระหรือวันโกนก็ทรงจัดให้พระมาเทศน์ เช่น “...ผิใช่วันสูดธรรม พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองศรีสัชชนาลัยสุโขทัยขึ้นนั่งเหนือขนาดหินให้ฝูงท่วยลูกเจ้าลูกขุน ฝูงท่วยถือบ้านถือเมืองคัล”
การปกครองสมัยสุโขทัยระยะแรก เป็นการปกครองแบบพ่อปกครองลูก พระเจ้าแผ่นดินทรงเป็นเหมือนหัวหน้าครอบครัวใหญ่ที่สุด ทรงปกครองดูแลราษฎรอย่างใกล้ชิดเหมือนพ่อปกครองลูก โดยเฉพาะสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ผู้ใดมีเรื่องเดือดร้อนก็สามารถเข้าเฝ้าถวายฎีการ้องทุกข์ต่อพ่อขุนได้โดยตรง ดังข้อความในจารึกหลักที่ 1 ความว่า
"ในปากประตูมีกระดิ่งอันหนึ่งแขวนไว้นั้น
ไพร่ฟ้าหน้าปกกลางบ้านกลางเมือง
มีถ้อยมีความเจ็บท้องข้องใจ
มันจักกล่าวถึงเจ้าถึงขุนบ่ไร้
ไปลั่นกระดิ่งอันท่านแขวนไว้
พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองได้ยิน
เรียกเมื่อถามสวนความแก่มันด้วยซื่อ
ไพร่ในเมืองสุโขทัยจึงชม"
การปกครองราชธานีและหัวเมืองต่าง ๆ แบ่งออกเป็น
- เมืองหลวงหรือราชธานี อาณาจักรสุโขทัยมีกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี เมืองหลวงหรือราชธานีเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ พระมหากษัตริย์เป็นผู้ปกครองดูแลเอง
- หัวเมืองชั้นใน หรือเมืองลูกหลวง ตั้งอยู่รายรอบราชธานีทั้ง 4 ทิศ หัวเมืองชั้นในพ่อขุนจะแต่งตั้งพระญาติวงศ์ใกล้ชิดไปปกครอง
- หัวเมืองชั้นนอก หรือ เมืองพระยามหานคร ผู้ปกครองเมืองได้แก่ เจ้านายหรือข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ที่พ่อขุนโปรดเกล้าฯ ให้ไปปกครองเมืองนั้น ๆ
- เมืองประเทศราช เมืองที่อยู่นอกอาณาจักร ชาวเมืองเป็นคนต่างชาติ พ่อขุนจะกำหนดให้เจ้านายของเมืองนั้น ๆ ปกครองกันเอง แต่ต้องถวายเครื่องราชบรรณาการต่อพระเจ้ากรุงสุโขทัยตามกำหนด
สำหรับเมืองประเทศราชของอาณาจักรกรุงสุโขทัยได้แก่ เมืองนครศรีธรรมราช เมืองทวาย เมืองเวียงจันทน์ น่าน หลวงพระบาง มะละกา ยะโฮ ทะวาย เมาะตะมะ และหงสาวดี เป็นต้น
แผนผังการปกครอง สมัยสุโขทัย
ที่มา
http://writer.dek-d.com/zestz105/story/viewlongc.php?id=565989&chapter=2
https://sites.google.com/site/tauw2491/sm44
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น